news
 
 
 
 
วันนี้ (20 เม.ย.2561) เวลา 16.10 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยังห้องประชุมทุ่งศรีเมือง โรงแรมเซนทารา โฮเทล แอน คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อุดรธานี อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ครั้งที่ 3/2561 โดยมี พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เฝ้ารับเสด็จ
ทั้งนี้ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ ตามแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 8 ยุทธศาสตร์ อาทิ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 17 เมษายน 2561 พบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ 47 จังหวัด พบสูงสุดในจังหวัดสุรินทร์ สัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ สุนัข โค และแมว
ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า โดยประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวในพื้นที่ที่ตรวจพบ และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สำรวจแล้วขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรคพิษสุนัขบ้า โดยดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับสุนัขและแมวทุกตัวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันหลังตรวจพบโรคพิษสุนัขบ้า ยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดระบบศูนย์พักพิงสัตว์ นำร่อง 6 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด จังหวัดอุดรธานี ซึ่งสร้างเสร็จแล้วและมีการดำเนินงานแล้วอย่างเป็นระบบ ได้นำสุนัขจรจัดเข้าฝึกการเรียนรู้ ศูนย์พักพิงสุนัข นครชัยบุรินทร์ จังหวัดนครราชสีมา อยู่ระหว่างงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นศูนย์พักพิงสัตว์ขนาดใหญ่ ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ระหว่างการจัดเตรียมพื้นที่ ณ บริเวณศูนย์สมาร์ทฟาร์มมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์พักพิงภาคกลาง ซึ่งดำเนินการและตั้งอยู่ ณ จังหวัดอุทัยธานี ปัจจุบันมีสุนัขพักพิงจำนวน 4,738 ตัว และจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในขั้นตอนการจัดหาพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างศูนย์พักพิง ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุม และดูแลรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในคน พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 17 เมษายน 2561 มีผู้เสียชีวิต 7 ราย จาก 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ , สงขลา , ตรัง , นครราชสีมา , ประจวบคีรีขันธ์ , บุรีรัมย์ และพัทลุง มีผู้เสียชีวิต 6 ราย เกิดจากการสัมผัสสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า และอีก 1 ราย เกิดจากถูกแมวกัด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า , บริหารจัดการวัคซีนให้เพียงพอ และเปิดศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า
และยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการประชาสัมพันธ์ ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ ได้เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจถึงโรคพิษสุนัขบ้าและวิธีป้องกันรักษาโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้ตระหนักถึงโรคพิษสุนัขบ้าผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย , สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด , การตั้งป้ายคัทเอาท์ และสื่อออนไลน์
 
ข่าวในพระราชสำนัก สทท.